ที่มาของนาฏศิลป์ไทย

สันนิษฐานว่านาฏศิลป์ไทยกำเนิดมาพร้อม ๆ กับความเป็นชนชาติไทย ที่เป็นเช่นนี้เพราะนาฏศิลป์ไทยเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การแต่งกาย และคติความเชื่อของคนไทยในอดีตถึงปัจจุบัน ทั้งนี้อาจสรุปได้ว่า นาฏศิลป์ไทยน่าจะมีที่มาจาก 4 แหล่ง ดังนี้

 

ช่างรำ-ที่มาของนาฏศิลป์

 

1 จากการละเล่นของชาวบ้านในท้องถิ่น หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวัน ชาวบ้านมักหาเวลาว่างมาร่วมร้องรำทำเพลง โดยมีการนำเอาดนตรีมาประกอบด้วย และ ตามนิสัยของคนไทยที่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ชอบร้องรำทำเพลงโต้ตอบระว่างชายหญิงจนเกิดเป็นพ่อเพลง แม่เพลงขึ้น โดยมีลูกคู่คอยร้องรับกันเป็นที่สนุกสนานครื้นเครง ทั้งนี้อาจจะเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้ลืมความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังมีการร้องรำกันเป็นคู่ชายหญิงเดินเป็นวง หรือเป็นที่รู้จักกันว่ารำโทนหรือรำวงพื้นบ้านจากการละเล่นของชาวบ้านดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดการแสดงนาฏศิลป์ไทยประการหนึ่ง

ช่างรำ-รำวงของคนไทยในสมัยโบราณ

รำวงของคนไทยในสมัยโบราณ ( http://www.guru.sanook.com 2549 )

2 จากการแสดงเป็นแบบแผน นาฏศิลป์ไทยที่เป็นมาตรฐานเป็นนาฏศิลป์ที่มีการปลูกฝังและถ่ายทอดมาจากปรมาจารย์ทางนาฏศิลป์ไทยในวังหลวง ที่ฝึกให้แก่ผู้หญิงและผู้ชายที่อยู่ในวังเป็นผู้แสดงโขนและละคร เพื่อแสดงในโอกาสต่าง ๆ

ช่างรำ-การแสดงละครในในสมัยโบราณ

การแสดงละครในในสมัยโบราณ  ( http://www.arunsawat.com 2549 )

3 จากการรับอารยธรรมของอินเดีย ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่โบราณกาล โดยเฉพาะละครในอินเดียรุ่งเรืองมาก ประกอบกับชนชาติอินเดียที่นับถือและเชื่อมั่นในศาสนา พระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธ์ต่าง ๆ พระผู้เป็นเจ้าที่ชาวอินเดียนับถือ ได้แก่ พระศิวะ(พระอิศวร) พระวิษณุ และพระพรหม ในบางยุคของชาวอินเดียถือว่า พระอิศวรเป็นเทพเจ้าที่มีผู้เคารพนับถือมากยุคนี้ถือว่าพระอิศวรทรงเป็นนาฏราช(ราชาแห่งการร่ายรำ) มีประวัติทั้งในสวรรค์และในเมืองมนุษย์ ในการร่ายรำของพระอิศวรแต่ละครั้ง พระองค์ทรงให้พระภรตฤาษีเป็นผู้บันทึกท่ารำแล้วนำมาสั่งสอนแก่เหล่ามนุษย์ จนเป็นที่มาของตำนานการฟ้อนรำ และในการเรียนนาฏศิลป์ไทยผู้เรียนทุกคนจะต้องเข้าพิธีไหว้ครูโขน – ละครก่อน ซึ่งได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระพิราพ และพระภรตฤาษี อันเป็นครูทางนาฏศิลป์และเป็นเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ และ ศาสนาฮินดู

4 จากการเลียนแบบธรรมชาติ กิริยาท่าทางตามธรรมชาติของมนุษย์จะบ่งบอกความหมายและสื่อความหมายกับผู้อื่นได้ควบคู่กับการพูด ในการฟ้อนรำก็จะใช้ท่ารำสื่อความหมายกับผู้ชมเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่า การแสดงบางชุดไม่มีเนื้อเพลง แต่มีทำนองเพลงอย่างเดียวผู้แสดงก็จะฟ้อนรำไปตามทำนองเพลงนั้น ๆ ลีลาท่ารำเป็นท่าทางธรรมชาติที่ใช้สื่อความหมาย ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการให้ผู้ชมเข้าใจความหมายในการรำ และใช้ท่ารำในการดำเนินเรื่องด้วย ถึงแม้ว่าท่ารำส่วนใหญ่จะมีลีลาสวยงามวิจิตรกว่าท่าทางธรรมชาติไปบ้าง แต่ก็็ยังคงใช้ท่าทางธรรมชาติเป็นพื้นฐานในการประดิษฐ์ท่ารำและเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมบ่งบอกความหมายได้ถูกต้อง

ช่างรำ-การเลียนแบบธรรมชาติของมนุษย์มาปรับปรุงให้เป็นท่านาฏศิลป์

การเลียนแบบธรรมชาติของมนุษย์มาปรับปรุงให้เป็นท่านาฏศิลป์ให้ดูสวยงาม

ในการแสดงชุด กราวเงาะ ( ณิชชา ชันแสง 2548 )

ช่างรำ-การเลียนแบบท่าทางตามธรรมชาติของกวาง

การเลียนแบบท่าทางตามธรรมชาติของกวาง ( ณิชชา ชันแสง 2548 )

เครดิตข้อมูลดีๆจาก : http://www.lakornchatree.com