ครูมัลลี (หมัน) คงประภัศร์
มัลลี (หมัน) คงประภัศร์ มีนามเดิมว่า “ปุย” เป็นบุตรีคนที่ ๓ ของนายกุกและนางนวม ช้างแก้ว เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๖ มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านปากคลองวัดรั้วเหล็ก (ปัจจุบันคือวัดประยุรวงศาวาส) อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี
เมื่อเด็กหญิงปุยอายุ ๘ ขวบบิดาก็สียชีวิต นางนวมผู้เป็นมารดาจึงได้สมัครเข้ารับราชการเป็นพนักงานประจำห้องเสวยของพระองค์เจ้าสุริยวงศ์ฯได้พาเด็กหญิงปุยไปอยู่ด้วย เด็กหญิงปุยได้มีโอกาสชมละครรำของพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ฯ ที่เข้าไปแสดงประจำในวังหลวง จึงมีความหลงไหลพอใจในบทบาทของตัวละครมากจนถึงกับแอบหนีมารดาติดตามคณะละครเจ้าขาวไป ได้รับการฝึกสอนจาก “หม่อมแม่เป้า” ครูละครคนสำคัญของวังเจ้าขาว แม้มารดาจะมารับตัวกลับ แต่เด็กหญิงปุยก็ไม่ยอมขออยู่หัดละครให้ได้จนมารดายอมแพ้ ให้หัดละครอยู่ในวังเจ้าขาว (ปัจจุบันคือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย)
เมื่ออายุ ๑๐ ขวบได้มีโอกาสไปแสดงในงานต่างๆมากมาย ครั้งหนึ่งได้แสดงหน้าพระที่นั่งเป็นตัว “สมันน้อย” ในละครเรื่องดาหลัง ปรากฏว่าเป็นที่พึงพอพระราชหฤทัยของเจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ จนทรงจำได้และเรียกเด็กหญิงปุยด้วยความเอ็นดูว่า “ไอ้หมัน”จนเป็นเหตุให้ใครต่อใครเรียกตามกันจนเคยชิน และเจ้าตัวก็พอใจชื่อใหม่นี้ เพราะถือเป็นมงคลนาม ได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงแก่กรรม
ต่อมาเมื่ออายุ ๒๒ ปี ก็ได้กราบทูลขอลาออกมาแต่งงานกับนายสม คงประภัศร์ โดยยังยึดอาชีพรับจ้างแสดงละครตามปกติ ต่อมาประมาณปีพ.ศ.๒๔๗๗ เมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนยาฏดุริยางคศาสตร์ขึ้นมา หม่อมครูต่วนและอาจารย์ละม่อม วงทองเหลือ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ได้มาชักชวน “ครูหมัน” ให้ไปช่วยสอนนักเรียน หว่านล้อมนานพอสมควร แม่ครูหมันจึงยอมไปสอน หม่อมครูต่วนจึงพาไปพบกับหลวงวิจิตรวาทการและสมัครเข้ารับราชการเป็นศิลปินชั้น๓ ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๗ ทำหน้าที่เป็นครูสอนนาฏศิลป์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แม่ครูหมันได้ร่วมกับครูลมุล ยมะคุปต์ ประดิษฐ์ท่ารำ แม่บทใหญ่ ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ในหลักสูตรสอนนักเรียนและใช้มาจนกระทั่งทุกวันนี้ ตลอดเวลาที่รับราชการเป็นครูสอนอยู่ในโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ครูหมันปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีตลอดมา ท่านได้รับราชการจนกรทั่งอายุ ๘๐ ปี จึงได้ถูกเลิกจ้างเพราะได้มีอาการหลงลืม ในวาระสุดท้ายแม่ครูหมันได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔สิริรวมอายุได้ ๘๙ ปี