ครูลมุล ยมะคุปต์

ลมุล เป็นธิดาของ ร้อยโทนายแพทย์จีน กับนางคำมอย อัญธัญภาติ(เชื้อ อินต๊ะ) เกิดวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๘ ณ จังหวัดน่าน ในขณะที่บิดาขึ้นไปราชการสงครามปราบกบฏ(กบฏเงี้ยว พ.ศ. ๒๔๔๕) ลมุลมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาทั้งสิ้น ๘ คน

เมื่ออายุ ๕ ขวบเข้าเรียนวิชาสามัญ ณ โรงเรียนสตรีวิทยา เรียนได้เพียงปีเดียวบิดาก็นำไปถวายตัวที่วังสวนกุหลาบ ลมุลอยู่ในความดูแลของคุณท้าวนารีวรคณารักษ์ (แจ่ม ไกรฤกษ์) เมื่ออายุ ๖ขวบได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านละครรำจาก หม่อมครูแย้มละครในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ถ่ายทอดบทบาทของตัวเอกด้านละครใน เช่น อิเหนา หย้าหรัน เป็นต้น หม่อมครูอึ่ง หม่อมละครในสมเด็จพระบัณฑูรฯ (กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ) ถ่ายทอดในเรื่องของเพลงหน้าพาทย์ และบทบาทอื่นๆ เช่น พระวิษณุกรรม พระมาตุลี อินทรชิต รามสูร เป็นต้น หม่อมครูนุ่ม หม่อมในกรมหมื่นสถิตธำรงสวัสดิ์ (พระองค์เจ้าเนาวรัตน์) ท่านเป็นครูนาง ถ่ายทอดบทบาทที่เกี่ยวกับตัวนาง เช่น ศุภลักษณ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีครูที่สอนพิเศษ อาทิ คุณท้าววรจันทร์(วาด) เจ้าจอมมารดาเขียน เจ้าจอมมารดาทับทิม เจ้าจอมมารดาสาย เจ้าจอมละม้าย พระยานัฏกานุรักษ์  คุณหญิงนัฏกานุรักษ์ และท่านครูหงิม ชีวิตการศึกษาที่วังสวนกุหลาบเป็นไปด้วยดี จนกระทั่งกราบบังคมทูลลาจากวังสวนกุหลาบไปรับพระราชทานสนองพระคุณเป็นละครในกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ณ วังเพชรบูรณ์ ร่วมกับเพื่อนละครอีกหลายท่าน ต่อมาเมื่อายุ ๒๐ ปี ทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ ก็สิ้นพระชนม์ ชีวิตละครที่เคยสุขสบายมาโดยตลอดก็ดับวูบลงทันที ต่างต้องแยกย้ายจากวังกลับไปอยู่กับญาติตามเดิม
เมื่อออกจากวังเพชรบูรณ์ได้ระยะหนึ่ง ก็สมรสกับนายสงัด ยมะคุปต์ มีบุตร-ธิดารวมทั้งสิ้น ๑๓ คน ชีวิตในระยะนี้ ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มากมาย ต่อมาพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร มีความต้องการครูละครฝ่ายพระ จึงปลึกษาพระยานัฏกานุรักษณ์ และได้รับการแนะนำให้ติดต่อนางลมุล ยมะคุปต์ จากนั้นครูลมุล  จึงได้เข้ามาวางหลักสูตรเพื่อจะเปิดโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ เมื่อเริ่มรับราชการนั้นมีอายุ ๒๙ปี ได้ถ่ายทอดความรู้ในการแสดงตัวเอก และระบำมาตรฐานต่างๆให้กับศิษย์ไว้มากมาย
ครูลมุล เกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ แต่หลังจากนั้น โรงเรียนนาฏศิลป์ ก็ได้จ้างไว้เป็นครูพิเศษสายนาฏศิลป์ละคร เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๖ ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ ประจำโรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร
วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๖ ครูลมุล รู้สึกไม่ค่อยสบายเนื่องจากเป็นไข้หวัด  มีอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่สะดวก ญาติจึงนำส่งโรงพยาบาลเปาโลฯ เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระราชทานพระเมตตารับไว้เป็นคนไข้ในพระองค์ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พักรักษาตัวประมาณ ๑เดือน ก็กลับไปพักผ่อนที่บ้าน แต่คืนต่อมาก็ต้องกลับเข้ารักษษตัวอีกครั้ง จนในตอนสายของวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๖ ครูลมุล ยมะคุปต์ก็จากไปด้วยอาการอันสงบ สิริรวมอายุได้ ๗๗ ปี ๗เดือน ๒๘วัน