โขนฉาก

โขนฉาก 

โขนฉาก เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการแสดงโขนเช่นเดียวกับโขนโรงใน ที่มีการสร้างฉากให้ดูสมจริงสมจังยิ่งขึ้น ดังนั้นโขนที่แสดงในลักษณะนี้คือ โขนที่แสดงในโรงละครต่างๆ   เช่น  โรงละครแห่งชาติ โขนศาลาเฉลิมกรุง  เป็นต้น

โขนโรงใน

โขนโรงใน

ช่างรำ-โขนโรงใน

ได้รับการปรับปรุงผสมผสานโขนกับการแสดงละครใน โดยนำเอาการขับร้องเพลงตามแบบละครในมาร้องแทรกในโขนด้วย และยังมีการแสดงแบบจับระบำรำฟ้อนเช่นเดียวกับละครใน จึงเรียกว่า โขนโรงใน โขนโรงในต้องมีโรงสำหรับแสดงและมีฉากหลังเป็นม่านแบบในละครใน การแสดงมีบทพากย์เจรจาแบบโขนและมีการขับร้องแบบละครใน มีเตียงสำหรับตัวแสดงนั่งแบบละครใน เวลาร้องเพลงและบรรเลงปี่พาทย์ต้องมีการตีกรับเป็นจังหวะแบบละครใน ปี่พาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงโขนหน้าจอใช้ปี่กลางที่มีเสียงสูง ไม่เหมาะสำหรับการแสดงโขนโรงในเนื่องจากปี่กลางเสียงสูงเกินไป ไม่เหมาะแก่การขับร้อง ปี่กลางจึงถูกเปลี่ยนมาเป็นปี่ในตามเสียงที่ลดลงมา วงปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการแสดงโขนโรงในนั้นมีเพียงวงเดียว แต่จะเป็นวงปี่พาทย์ชนิดใดก็ขึ้นอยู่กับฐานะของงาน

โขนหน้าจอ

โขนหน้าจอ

เดิมเป็นการแสดงที่แทรกเข้าไปในการแสดงหนังใหญ่บางตอน เมื่อนำโขนเข้ามาแสดงแทรกบ่อย ๆ เข้า จึงให้มีการแสดงแต่โขนอย่างเดียวแล้วยกเลิกหนังใหญ่ไปในที่สุด แล้วก็มีการพัฒนาปลูกโรงยกพื้นขึ้นและขึงจอผ้าขาวแบบจอหนังใหญ่ แต่แก้ไขให้มีประตูเข้าออกทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ด้านซ้ายของเวทีวาดเป็นรูปปราสาทราชวัง สมมติเป็นกรุงลงกาหรือเมืองยักษ์ ส่วนด้านขวาของเวทีวาดเป็นรูปค่ายพลับพลาของพระราม ด้านบนของจอวาดเป็นรูปเมขลารามสูร และพระอาทิตย์พระจันทร์ ดำเนินเรื่องโดยการพากย์และเจรจา ผู้แสดงเป็นตัวเทวดาและตัวพระไม่ต้องสวมหัวโขนปิดหน้าทั้งหมด แต่สวมเครื่องประดับศีรษะที่เรียกว่าชฎาแทน วงปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการแสดงมีวงเดียว เดิมตั้งอยู่บนเวทีต่ำกว่าเวทีโขนด้านหน้าโรง หันหน้าเข้าหาผู้แสดง ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนให้วงปี่พาทย์ตั้งอยู่หลังจอ