หม่อมครูอึ่ง หสิตะเสน

(สันนิษฐานว่าเป็นเจ้าจอมในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ในรัชกาลที่ 5) หม่อมครูอึ่ง หสิตะเสน หรือ เจ้าจอมอึ่ง เป็นผู้วางรากฐานท่ารำตัวละครพระทั้งหมด ของคณะละครวังสวนกุหลาบ เดิมเป็นนางละครใน “เจ้าคุณจอมมารดาเอม” ในรัชกาลที่ 2(พระมารดากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ) สอนคู่กับหม่อมครูนุ่ม นวรัตน์ ณ อยุธยา เป็นผู้มีความสามารถสูงส่งในการร่ายรำบทบาท ตัวละครพระ ถ่ายทอดท่ารำเพลงหน้าพาทย์ต่างๆ ท่ารำเฉพาะบทบาท และท่ารำฉุยฉายของ ตัวพระ ท่ารำบทบาทพระเอก พระรอง และอื่นๆ

วิชาความรู้จากหม่อมครูอึ่งที่ถ่ายทอดผ่านมายังวังสวนกุหลาบ โดยมีศิษย์เอกทั้งสามท่านที่เป็นศิลปินในตำนาน คือ ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี คุณครูลมุล ยมะคุปต์ และคุณครูเฉลย ศุขะวณิช เผยแพร่และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวงการนาฏศิลป์ และการเรียนการสอนในหลักสูตรนาฏศิลป์ไทยของกระทรวงศึกษาธิการให้พวกเราทุกคนได้เรียนกันในปัจจุบัน มีดังนี้
1. ท่ารำเฉพาะบทบาทของตัวพระเอกต่างๆ เช่น พระวิศณุกรรม พระมาตุลี พระสังข์ พระราม ฯ ล ฯ
2. ท่ารำเฉพาะบทบาทของตัวยักษ์ เช่น อินทรชิต รามสูร ฯลฯ
3. ท่ารำเพลงช้า เพลงเร็ว
4. ท่ารำเพลงหน้าพาทย์ ต่างๆ เช่น เพลงเชิด เพลงเสมอ เพลงพญาเดิน เพลงเสมอจีน เพลงกราวใน เพลงกราวนางยักษ์ เพลงตระนิมิต เพลงตระบองกัน เพลงชำนาญ เพลงสาธุการ เพลงเสมอมาร เพลงเสมอเถร เพลงพราหมณ์เข้า เพลงพราหมณ์ออก
เพลงตระนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพลงตระบรรทมไพร เพลงตระสันนิบาต
5. ท่ารำกริชคู่สะระหม่า (รบกริชอิเหนา)
6. ท่ารำกริชมลายูสะระหม่าแขก
7. ท่ารำกระบี่
8. ท่ารำทวน
9. ท่ารำหอกซัด (ละครเรื่อง อิเหนา ตอน ศึกกระหมังกุหนิง)
10. ท่ารำง้าว (รำอาวุธเดี่ยวถวายหน้าพระทีนั่ง)
11. ท่ารำปฐมหางนกยูง (พระมาตุลีจัดพล)
และ วิชาความรู้ด้านการรำในบทบาท “ตัวละครพระ” อื่นๆ อีกเป็นอันมาก แต่ชีวิตของครูละครมักอาภัพ คุณครูประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ บอกเล่าโดยจำมาจากบทสัมภาษณ์คุณครูลมุล ยมะคุปต์ ให้ข้าพเจ้า(ผู้เขียน) ฟังว่า “หม่อมครูอึ่ง กับ หม่อมครูนุ่ม เป็นหม่อมละคร ชีวิตหม่อมละครมักอาภัพ เมื่ออยู่ที่วังสวนกุหลาบท่านได้เบี้ยเลี้ยงเดือนละไม่กี่บาท พอทูลกระหม่อมอัษฏางค์สิ้น ท่านก็ออกมาอยู่ข้างนอก ไม่มีลูกหลานคอยปรนนิบัติ คุณครูลมุล เล่าให้ฟังว่า พอถึงเวลาสิ้นเดือน หม่อมครูนุ่ม กับหม่อมครูอึ่ง จะจูงมือกันมาหาคุณครูลมุล ศิษย์รัก คุณครูลมุลตอบแทนพระคุณด้วยการเอื้อเฟื้อค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่งให้กับหม่อมครูทั้งสองท่าน ท่านน่าสงสารมากเพราะไม่มีลูกไม่มีหลาน จนบั้นปลายชีวิตท่านก็จากไปอย่างสงบ แต่ที่น่าเห็นใจมากกว่านั้น คือท่านสิ้นเมื่อครั้งสงครามโลก ไม่มีศิษย์ผู้ใดไปไว้อาลัยในพิธีศพท่านได้เลย เพราะต่างคน ต่างก็ลี้ภัยสงครามกันไปหมด หม่อมครูจึงจากโลกนี้ไปอย่างเดียวดาย เป็นเส้นทางชีวิตที่ทำคุณประโยชน์เพื่อผู้อื่น โดยเฉพาะแก่ประเทศชาติ แต่ชีวิตอาภัพนัก ถ้าไม่มีหม่อมครูอึ่ง พวกเราชาวนาฏศิลป์ก็ไม่มีท่ารำตัวพระสวยสง่าไว้รำกันหรอก ป่านนี้คงรำกันอย่างหัวมังกุท้ายมังกร”