การแต่งกายของนาฏศิลป์ไทย
การแสดงนาฏศิลป์ไทย โดยเฉพาะการแสดงโขนนั้นได้จำแนกผู้แสดงออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะของบทบาทและการฝึกหัด คือ ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และตัวลิง ซึ่งในแต่ละตัวนั้น นอกจากบุคลิกลักษณะที่ถ่ายทอดออกมาให้ผู้ชมทราบจากการแสดงแล้ว เครื่องแต่งกายของผู้แสดงก็ยังเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่า ผู้นันรับบทบาทแสดงเป็นตัวใด
เครื่องแต่งกายนาฏศิลป์ไทยมีความงดงามและมีกรรมวิธีการประดิษฐ์ที่วิจิตรบรรจงเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะที่มาของเครื่องแต่งกายนาฏศิลป์ไทยนั้น จำลองแบบมาจากเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ (เครื่องต้น) แล้วนำมาพัฒนาให้เหมาะสมต่อการแสดง ซึ่งจำแนกออกเป็น 4 ฝ่าย ดังนี้

เครื่องแต่งตัวพระ
เครื่องแต่งตัวนาง
เครื่องแต่งตัวยักษ์
เครื่องแต่งตัวลิง

สำหรับเครื่องแต่งตัวพระและตัวนางดังกล่าวนี้ จะใช้แต่งกายสำหรับผู้รำในระบำมาตรฐาน เช่น ระบำสี่บท ระบำดาวดึงส์ ระบำพรหมมาสตร์ รำบำย่องหงิด และระบำกฤดาภินิหาร เป็นต้น และยังใช้แต่งกายสำหรับตัวละครในการแสดงละครนอกและละครในด้วย ส่วนในระบำเบ็ดเตล็ด เช่น ระบำนพรัตน์ ระบำตรีลีลา ระบำไตรภาคี ระบำไกรลาสสำเริง ระบำโบราณคดีชุดต่างๆ หรือระบำสัตว์ต่างๆ จะใช้เครื่องแต่งกายให้ถูกต้องตรงตามรูปแบบของระบำนั้นๆ เช่น ระบำโบราณคดี ก็ต้องแต่งกายให้ถูกต้องตรงตามหลักฐานที่ปรากฏในรูปปั้นหรือภาพจำหลัก ตามโบราณสถานในยุคสมัยนั้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการแสดงที่เป็นนาฏศิลป์พื้นเมืองของท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องแต่งกายให้สวยงามถูกต้องตามวัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วย
นอกจากนี้ยังมีเครื่องแต่งกายประกอบการแสดงโขน ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การแต่งกายชุดยักษ์ ชุดลิง (หนุมาน) และหัวโขนที่ใช้ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น

เครดิตข้อมูลดีๆจาก : http://www.lakornchatree.com